-
แนวทางและการแก้ไขปัญหา
หน่วยงานภาครัฐจะต้องแสวงหารูปแบบใหม่ๆ ในการให้บริการเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการลดขั้นตอนการดำเนินงานไปยังภูมิภาค เพื่อกระจายบริการให้แก่เด็กเร่ร่อน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ที่มีแนวโน้มของปัญหาเด็กเร่ร่อนมากขึ้น การประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ควรมีนโยบายหลักร่วมกัน รวมทั้งจะต้องมีการจัดทำโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพของเจ้าหน้าที่ให้ดีขึ้น ควรส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์ให้บริการแนะแนวแก่เด็กเร่ร่อนทั่วไปโดยตรง โดยจัดเครือข่ายเพื่อให้บริการแนะแนวและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กเร่ร่อน เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดทำโครงการ ซึ่งควรเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเด็กเร่ร่อน เพราะหน่วยงานภาคเอกชนมีความคล่องตัวและความยืดหยุ่นในการดำเนินงานได้ดีกว่า ซึ่งรัฐอาจจะใช้กรมประชาสงเคราะห์เป็นตัวประสานงาน ควรส่งเสริมให้มีการบริการสำหรับเด็กเร่ร่อนที่ไม่ได้เข้าสู้ระบบการสงเคราะห์ เช่น ศูนย์เยาวชน ห้องสมุดประชาชน ที่เด็กเร่ร่อนทั่วไปสามารถใช้บริการได้ ควรส่งเสริมให้มีโครงการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นแก่เด็กเร่ร่อนในแต่ละพื้นที่และจัดหางานให้เมื่อสำเร็จการฝึกอบรม และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เด็กเร่ร่อนในเรื่องสุขภาพอนามัยและความรู้เรื่องโรคเอดส์ เพื่อให้เด็กเร่ร่อนสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้โดยจะต้องเข้าถึงตัวเด็กอย่างแท้จริงและดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ
ครอบครัวนอกจากจะเป็นสถานที่แห่งแรกในการบ่มเพาะนิสัยให้เด็กแล้วท้ายที่สุดครอบครัวเองก็ยังจะเป็นสถานที่สุดท้ายที่จะเยียวยาให้แก่เด็กที่ผ่านพ้นสภาพ ปัญหาและแรงกดดันจากภายนอกมา ดังนั้นผู้ใหญ่เองนั่นล่ะต้องคอยทบทวนตัวเองและอย่าได้ลืมความเป็นเด็กของตัวเองไปเป็นอันขาด เพราะเมื่อใดก็ตามผู้ใหญ่ลืมความเป็นเด็กของตัวเองไปเสียแล้ววันนั้นผู้ใหญ่ ก็จะไม่ต่างอะไรกับศาลที่คอยพิพากษาเด็กด้วยความไม่ยุติธรรมแล้วเด็กจะไปพึงใคร เมื่อพึ่งคนในครอบครัวตัวเองไม่ได้แล้ว เพราะสถาบันครอบครัว เป็นสถาบันแห่งแรกที่จะสร้างพฤติกรรมที่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี
ในอนาคตประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะทำให้ปัญหาเด็กเร่ร่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากเกิดการไหลเวียนของประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทย จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจอาจเติบโตและขยายขึ้นในทางที่ดี ด้านสังคมนั้น คนในสังคมอาจมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จากที่พึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อาจจะทำให้คนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป พ่อแม่ต้องออกไปทำงานหาเงินเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูกหลานของตน ทำให้มีเด็กเร่ร่อนและเด็กถูกทอดทิ้งเพิ่มขึ้นอีก
ปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาเร่งด่วนเป็นวิกฤตการณ์ที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญไม่ด้อยไปกว่าปัญหาความมั่นคงและปัญหาทางเศรษฐกิจได้ สังคมที่เด็กต้องอาศัยอยู่ต่อไปก็ต้องมีมาตรการในการรองรับการคืนกลับเด็กเข้าสู่สังคม ภายหลังที่เด็กได้รับการฟื้นฟูสภาพจิตใจ และพัฒนาศักยภาพ และพร้อมที่จะกลับสู่ ครอบครัว ชุมชน สังคม ที่เขาอาศัยอยู่ สังคมเองต้องไม่ตัดสิน หรือพิพากษาเด็ก ต้องให้โอกาสในการพิสูจน์ตัวเองของเด็ก และที่สำคัญต้องยอมรับในศักยภาพที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ต้องยอมรับว่า เด็กมีความพร้อมจริงๆ ที่จะกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมอย่างปกติ และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการพัฒนาชุมชน สังคม ที่เด็กอยู่ร่วมด้วย
เว็บไซต์นี้ จัดทำโดย นักศึกษา คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
เป็นส่วนหนึ่ง ของการศึกษารายวิชา GES2203 ความรู้เท่าทันสารสนเทศ
ประเด็นการศึกษา ปัญหาเด็กที่ถูกทอดทิ้งในสังคมไทย