สรุปปัญหา
สรุปได้ว่าการขาดความรักความอบอุ่นจากสถาบันครอบครัวยังถือเป็นปัญหาลำดับแรกที่ต้องให้ความสำคัญ และในอนาคตสถานการณ์เด็กถูกทอดทิ้งจะรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน หากเด็กที่ถูกทอดทิ้งเหล่านี้เติบโตขึ้นจากการได้รับความรักอย่างฉาบฉวยโดยไม่รู้จักรากฐานของความรักที่แท้จริง แม้จะมีอยู่หลายครั้งที่เมื่อพบตัวครอบครัวที่แท้จริงแล้ว เด็ก ๆ มักจะได้รับการปฏิเสธด้วยเหตุผลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความไม่พร้อมในการเลี้ยงดู หรือไม่ต้องการเลี้ยงเลือดในอก เด็กจึงต้องตกอยู่ในสภาพของเด็กกำพร้า ได้รับการเลี้ยงดูแบบตามมีตามเกิดและต้องอยู่ในสถานสงเคราะห์อย่างถาวร แม้จะได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสถานสงเคราะห์โดยการส่งเด็กบางรายไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์เป็นครั้งคราวก็ตาม หรือได้รับการเลี้ยงดูเป็นครั้งคราวจากอาสาสมัครก็ตาม เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่มีความเป็นไปได้สูงที่จะทอดทิ้งลูกในไส้ของตนเองดังเช่นที่พวกเขาได้เคยถูกกระทำ ฉะนั้นเพื่อไม่ให้ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาสังคมที่น่าเศร้าอีกต่อไป จึงควรแก้ไขด้วยวิธีการใช้ความรักความผูกพันอย่างแท้จริง ปรับเปลี่ยนความคิดเรื่องความสัมพันธ์ของคนในสังคมให้ถูกต้อง ให้คนหันกลับมามุ่งเน้นการตอบสนองในเรื่องของจิตใจมากขึ้น ความสัมพันธ์ของคนในสังคมจะต้องอยู่บนพื้นฐานเริ่มต้นจากจิตใจที่เห็นคุณค่าของผู้อื่น เรียนรู้ที่จะพัฒนาความเข้าใจต่อผู้อื่น และใช้หลัก "คน" เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาตนเองเช่นเดียวกับการพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ ทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือในการป้องกัน แก้ไข และให้ความช่วยเหลือมิให้เด็กตกอยู่ในปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ใกล้ชิดกับเด็กควรตระหนักว่าเมื่อเด็กถูกทอดทิ้งแล้ว อาจจะมีผลต่อการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ และมีคุณภาพต่อไปได้ เด็กทุกคนต้องการความรัก ความอบอุ่น ความปลอดภัย ความจริงใจจากครอบครัว และสังคมรอบข้างเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์ควรมีบทบาทในการประสานให้ความช่วยเหลือตลอดจนการเตรียมความพร้อมของบุคล เพื่อการดำเนินชีวิตครอบครัวในอนาคต ด้วยสภาพความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตของเด็กเร่ร่อน
คงจะสะท้อนให้เห็นผลกระทบในหลายๆ อย่าง เริ่มจากการไม่ได้รับการศึกษา การอดอยาก อดมื้อกินมื้อ ความไม่มั่นคงในอารมณ์ที่ขาดผู้หลักผู้ใหญ่คอยดูแลให้ความรักความอบอุ่น ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความหวาดผวาอยู่ตลอดเวลา ว่าเมื่อไรจะถูกจับเข้าสถานสงเคราะห์ สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบที่เด็กเร่ร่อนได้รับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมภายในจิตใจ จะเห็นได้จากความก้าวร้าว และชอบแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่รุนแรง ความรู้สึก และความสัมพันธ์สังคม เด็กส่วนใหญ่มักจะเฉยชากับสังคม แบบซึมเศร้า เก็บกด พูดน้อย วิตกกังวล เพราะตนเองดำรงชีวิตอยู่โดยลำพัง คิดว่าไม่มีคนสนใจ และสังคมไม่เคยช่วยเหลือเกื้อกูล แต่ต้องมีในบางรายรู้สึกสะเทือนใจบ้างเวลาที่ถูกคนรอบข้างดูถูก เหยียดหยาม ทั้งวาจา ที่ถูกเรียกว่า เด็กถูกทอดทิ้ง ลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่ และทั้งทางร่างกาย




เว็บไซต์นี้ จัดทำโดย นักศึกษา คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
เป็นส่วนหนึ่ง ของการศึกษารายวิชา GES2203 ความรู้เท่าทันสารสนเทศ
ประเด็นการศึกษา ปัญหาเด็กที่ถูกทอดทิ้งในสังคมไทย